Sunday, February 28, 2010

25 ปีแห่งการงาน เบิกบานแจ่มใส (2) เรียนนี้เพื่ออนาคต

เนื้อหาต่อจากภาคที่แล้ว 25 ปีแห่งการงาน เบิกบานแจ่มใส (1)

การทำงานของผมนั้นเร่ิมตั้งแต่ตอนเรียนมัธยมโน้นครับ เป็นเพราะว่าพ่อเป็นคนที่อยากให้ลูกๆ ได้รู้จักการทำงาน จึงเป็นเหตุผลที่ผมได้เข้าไปช่วยงานในหลาย ๆ ที่ แต่ละที่ก็มีบทเรียนต่าง ๆ กัน ซึ่งการไปทำงาน ทำให้มีความเข้าใจในการทำงานมากขึ้น แต่ก็นึกเสียดายที่น้องของผมเค้าไม่ได้มีโอกาสทำงานพวกนี้เลย เพราะเหตุผลอันสุดวิสัย

เมื่อครั้งเรียนมัธยม การทำงานช่วยพ่อนั้น ได้ทำเพราะว่าพ่อพาไป ให้ทำอะไรก็ทำ ขน แบก อะไรก็ทำ เหนื่อยบ้าง เบื่อบ้าง อู้บ้าง แต่ผลที่ได้รับคือ "ต้องทำงาน แล้วงานจะเสร็จ"

พอมาเรียนมหาวิทยาลัย การทำงานแบกหามก็ยังมีอยู่ แต่ว่าน้องลง งานที่ทำคืองานทั่ว ๆ ไปทางคอมพิวเตอร์ ตอนนั้นปี 3 มีคำถามเข้ามาจากหัวหน้าว่า "จะนำคอมพิวเตอร์มาใช้เก็บข้อมูลอย่างไรดี?" แล้วคำตอบก็คือ "ต้องไปนั่งอ่านหนังสือเรื่องฐานข้อมูล เป็นบ้านเป็นหลัง" สุดท้ายก็เวลาหมดต้องกลับมาเรียนต่อเพราะมีเวลาแค่ 2 เดือนในการทำงานนั้น ได้แต่แก้ไขปัญหาเรื่องเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เบื้องต้นเอง แต่ถ้าเดี๋ยวนี้ถามหละก็ ผมมีระบบให้เลยหละ

ทำงานสองเดือนนั้นทำให้ผมได้ซื้อสิ่งที่ต้องการมากที่สุดในช่วงเวลานั้น คือ จักรยานภูเขา ผมนำเงินทั้งหมดที่ได้ซื้อเลยครับ!  ตอนนี้ยังใช้อยู่เลยทนจริง ๆ  :)

ช่วงเวลาที่เรียนมหาวิทยาลัยปี 2 -3 นี้เอง เป็นช่วงที่ประเทศไทยเข้าสู่ยุคฟองสบู่กำลังจะแจก หรือยุคต้มยำกุ้ง ครอบครัวผมก็เข้าไปอยู่ในช่วงนั้นเหมือนกัน เวลานั้นทำให้ผมเรียนรู้อาการของฟองสบู่เลยครับ ตั้งแต่มันเร่ิมเป็นฟอง การได้มาซึ่งงานและเงินของพ่อ การใช้บัตรเครดิตของพ่อ การจ่ายเงินให้ลูกจ้างรายวัน การกินเลี้ยง การไม่วางแผน การจ้างงานที่ไม่ได้ทำสัญญาการจ่ายเงินอย่างเป็นระบบ การงดจ่ายเงินค่าจ้าง จนในที่สุดฟองสบู่เมืองไทยก็ "แตก"

แน่นอนพ่อผมเป็นหนี้บัตรเครดิต ปิดบริษัท เลิกจ้างลูกจ้าง ต้องไปขับแท็กซี่ และก็กลับมารับงานเล็ก ๆ ทำกันไป ช่วงนั้นเป็นช่วงที่แย่ที่สุดของครอบครัวของเรา ทุก ๆ ด้านก็ว่าได้ บางครั้งที่บ้านต้องถึงกลับ ต้มข้าวกินแบบไม่มีกับข้าว ไปเรียนแบบต้องเดินไป ไม่ได้กินข้าวเช้าและกลางวัน

แต่ผมยังยึดสิ่งหนึ่งอยู่เสมอคือ "ต้องเรียนให้จบ เพราะอนาคตผมจะเกิดได้ก็ต้องเรียนจบก่อน" ไม่อย่างนั้นทุกอย่างที่เรียนและทำมาจะจบลงทันที

และแล้วความพยายามและความตั้งใจก็บันดาลให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้นกับชีวิตผม นั่นคือการเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรกในชีวิต และก็เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดในชีวิตก็ว่าได้

คราวหน้าค่อยมาดูกันว่าจุดเปลี่ยนที่ว่ามันเปลี่ยนผมได้ซักแค่ไหน.

Monday, February 15, 2010

คำอธิบายในการรับใบรับรองของ Google

คราวก่อนเขียนอธิบายในส่วนของการเข้าใช้งาน https ไว้ แต่ว่าวันนี้ลองเปิด Chrome ดู ปรากฏว่าก็อธิบายไว้อย่างเข้าใจดีเหมือนกัน

ใบรับรองความปลอดภัยของเว็บไซต์ไม่น่าเชื่อถือ


คุณพยายามเข้าถึง www.domain.com  แต่เซิร์ฟเวอร์แสดงใบรับรองที่ออกโดยนิติบุคคลที่ระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์ไม่เชื่อถือ ซึ่งหมายความว่า เซิร์ฟเวอร์ได้สร้างใบรับรองความปลอดภัยขึ้นเอง ซึ่ง Google Chrome ไม่สามารถไว้ใจในข้อมูลประจำตัวนั้นได้หรือผู้โจมตีอาจจะพยายามที่จะขัดขวางการสื่อสารของคุณ คุณไม่ควรดำเนินต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุยไม่เคยเห็นคำเตือนนี้มาก่อนเมื่อเข้ามาที่เว็บไซต์นี้



เมื่อคุณเชื่อมต่อไปยังเว็บไซต์ที่มีการรักษาปลอดภัย เซิร์ฟเวอร์ที่ให้บริการพื้นที่เว็บไซต์นั้นจะแสดงสิ่งที่เรียกว่า "ใบรับรอง" ให้กับเบราว์เซอร์ของคุณเพื่อตรวจสอบข้อมูลประจำตัว ใบรับรองนี้ประกอบด้วยข้อมูลประจำตัว เช่น ที่อยู่ของเว็บไซต์ที่ได้รับการยืนยันโดยบุคคลที่สามที่คอมพิวเตอร์ของคุณเชื่อถือ โดยการตรวจสอบว่าที่อยู่ในใบรับรองตรงกับที่อยู่ของเว็บไซต์ คุณสามารถยืนยันว่าคุณกำลังสื่อสารอย่างปลอดภัยอยู่กับเว็บไซต์ที่คุณต้องการเข้าชม ไม่ใช่ติดต่ออยู่กับบุคคลที่สาม (เช่น ผู้โจมตีในเครือข่ายของคุณ)


In this case, the certificate has not been verified by a third party that your computer trusts. Anyone can create a certificate claiming to be whatever website they choose, which is why it must be verified by a trusted third party. Without that verification, the identity information in the certificate is meaningless. It is therefore not possible to verify that you are communicating with www.mydomain.com instead of an attacker who generated his own certificate claiming to be www.mydomain.com. You should not proceed past this point.


อย่างไรก็ตาม หากคุณทำงานในองค์กรที่มีการสร้างใบรับรองของตนเอง และคุณพยายามเชื่อมต่อกับเว็บไซต์ภายในขององค์กรโดยใช้ใบรับรองดังกล่าว คุณอาจแก้ปัญหานี้ได้อย่างปลอดภัย คุณสามารถนำเข้าใบรับรองหลักขององค์กรเป็น "ใบรับรองหลัก" จากนั้น ใบรับรองที่ออกหรือรับรองโดยองค์กรของคุณจะได้รับความเชื่อถือและคุณจะไม่พบข้อผิดพลาดนี้อีกในครั้งหน้าที่คุณพยายามเชื่อมต่อกับเว็บไซต์ภายใน ติดต่อพนักงานให้ความช่วยเหลือในองค์กรของคุณ หากต้องการความช่วยเหลือในการเพิ่มใบรับรองหลักลงในคอมพิวเตอร์ของคุณ

นี่คงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ต้องมีการแปล (localization) เพราะจะทำให้การใช้งานมีความเข้าใจมากขึ้น ต้องขอขอบคุณ ที่นี่เป็นอย่างมาก http://groups.google.co.th/group/thai-l10n?hl=en

Thursday, February 11, 2010

https มันคืออะไร ...​

เวลาเราจะตอบคำถามเราควรดูผู้ถามก่อนว่าเราจะอธิบายด้วยลักษณะไหนดี ถ้าเราตอบคำถามแบบเทคนิคมาก ๆ ให้กับคนถามที่ไม่มีความรู้ทางด้านเทคนิค เราต้องค่อย ๆ อธิบายอย่างแยบยล นั่นคือหน้าที่ของผม อีกอันหนึ่ง

และวันนี้ก็มาอีกคำถาม "เข้าใช้งาน web แล้วมันถามอะไรก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจ แล้วต้องทำอย่างไร" แน่นอนถ้าหากเราอธิบายให้กับเทคนิคฟังก็อาจจะง่าย แต่นี้ผมต้องพรรณาให้ผู้ใช้งานฟังนี้ครับ

ดูผม อธิบาย ...

เนื่องจากการใช้งานเว็บในปัจจุบันเป็นช่องทางที่สะดวกและมีการใช้งานกันอย่างกว้างขวาง ทำให้การเข้าถึงข้อมูลมีมากขึ้น แต่เมื่อข้อมูลที่ต้องการใช้งานนั้นมีความสำคัญ เช่น ข้อมูลทางด้านธุรกิจ ธุรกรรมธนาคาร หรือข้อมูลที่เป็นความลับต่าง ๆ ทำให้มีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้ข้อมูลที่ส่งผ่านกันระหว่าง ผู้ใช้งานและผู้ให้บริการมีความปลอดภัยมากขึ้น โดยสามารถป้องกันการดักจับข้อมูลที่ส่งผ่านกันในเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงมีการคิดค้นการเข้ารหัสข้อมูลระหว่างทั้งสองฝ่ายขึ้น ซึ่งก็เป็นที่มาของ https ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้


เพื่อให้การเข้ารหัสสามารถระบุตัวตนที่แน่ชัดได้ ก็จึงมีหน่วยงานขึ้นมาทำการออกใบรับรอง หรือที่เรียกกันว่า "Certificate" ขึ้นมา ซึ่งหากผู้ใดต้องการทำการเข้ารหัสและมีความประสงค์ที่จะยืนยันตัวตนในระบบสากล ก็ต้องขอใช้บริการ การรับรอง Certificate โดยมีค่าบริการตามสมควร


แต่ในทางปฏิบัติแล้วหลายเว็บไซต์ไม่ได้มีการติดต่อขอรับบริการดังกล่าว แต่อาศัยการสร้างใบรับรอง Certificate เอง ซึ่งการใช้งานในครั้งแรก ๆ จะมีการเตือนให้ผู้ใช้ทราบว่า Certificate นี้ไม่ได้มีการรับรองโดยบริษัทที่ดูแลการออกใบรับรองนี้โดยตรง ซึ่งหากเป็นเว็บเซอร์เวอร์ที่ใช้กันภายในองค์กรเดียวกัน เราก็สามารถส่งไฟล์ Certificate นี้ไปติดตั้งยังเครื่องต่าง ๆ ได้โดยผู้ใช้งานเป็นผู้ดำเนินการเอง ซึ่งผู้ใช้งานจะต้องทำการตรวจสอบรายละเอียดของใบรับรองนี้เองก่อนการดำเนินการติดตั้ง และเมื่อผู้ใช้งานได้ทำการติดตั้ง Certificate นี้ไปแล้ว ก็จะสามารถใช้งานเว็บไซต์ที่เข้ารหัสได้ในภายหลังโดยไม่มีการร้องเตือนเรื่อง Certificate นี้อีก

อธิบายให้ฟังแล้วผู้ใช้งานผมก็ทำหน้า งง ต่อไป ....  :'-P

Wednesday, February 10, 2010

25 ปีแห่งการงาน เบิกบานแจ่มใส (1)

วันนี้ฟัง "25 ปีแห่งการงาน เบิกบานแจ่มใส" แล้วก็ได้แนวคิดดี ๆ หลายอย่างในการทำงาน ตามที่อาจารย์ วีระ ต้องการให้กับผู้ฟัง ผมเลยต้องสรุปมาเก็บไว้ที่นี่เพื่อไว้เตือนตัวเองบ้าง คือ


(1) จุดเปลี่ยนในชีวิต
จุดเปลี่ยนในชีวิตของผมก็มีหลายจุดนะ และมันก็เป็นจุดเปลี่ยนจริง ๆ เริ่มจากเรียน ม. ต้น และเร่ิมเล่นดนตรี มันทำให้ผมมีสมาธิ โดยที่ผมไม่รู้ตัว จนกระทั้งมารู้อีกทีก็ตอนที่เข้ามหาลัยแล้ว คือ ดนตรีก็คือการทำสมาธิอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้ปัจจุบันผมเป็นคนมีสมาธิในการใช้ชีวิตได้ระดับหนึ่งเลย อีกจุดคือได้รู้จักอาจารย์หลายท่านที่แนะนำในการเรียนที่ดี


ต่อมาก็ตอนเปลี่ยนไปเรียนสายอาชีพนี่แหละ เข้าไปเรียนมา 3 ปี ก็รู้ว่าเลือกผิดเพียงเพราะแค่ต้องการออกจากบางสิ่งเท่านั้น แต่อันนี้ก็เป็นความคิดของเด็ก ก็โชคดีที่ยังกลับมาเข้ามหาวิทยาลัยทัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตต่อไปอีกหลาย ๆ ครั้งเลยก็ว่าได้ "เหมือนที่อาจารย์ วีระ ว่าไว้ว่า การรู้ว่าตนเองผิดนั่นแหละเป็นสิ่งที่สำคัญ"


เมื่อกลับเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัย จุดเปลี่ยนที่ถือว่าเปลี่ยนแปลงชีวิตของผมเลยทีเดียว คือ การที่ได้รับทุนเลือกให้ไปฝึกงานที่ต่างประเทศ ถึงแม้ว่ามันจะเป็นช่วงเวลาที่ไม่มาก แค่ไม่กี่เดือน ก็ทำให้ผมเปลี่ยนจากคนเดิมเป็นคนใหม่โดยสิ้นเชิง เอาเป็นว่าเพื่อน ๆ ผมเค้าไม่คิดว่าผมจะเปลี่ยนไปได้ถึงขนาดนี้ และจากจุดนี้เองก็เป็นการเข้าสู่อาชีพที่ผมดำเนินการอยู่ทุกวันนี้ 


ในมหาวิทยาลัย ผมได้รู้จักกับอาจารย์ที่ปรึกษาที่พึ่งกลับมาจากต่างประเทศใหม่ จนตอนนี้เรียกได้ว่าเราปรึกษากันตลอดเลย ทั้งเรื่องงาน เรื่องเงิน เรื่องความรู้ต่าง ๆ ... ขอบคุณครับ คุณครู


เมื่อเรียนจบก็สมัครงาน อีกจุดหนึ่งที่สำคัญคือ ตอนสมัครงาน ตอนนั้นจำได้เลยว่าทางบริษัทเค้านัดเราให้ไปตอนเช้าเพื่อสัมภาษณ์แต่ไม่ได้กำหนดเวลาไว้แน่นอน ผมก็ไปช้ากว่าคนอื่น ๆ เพียง 5 นาทีเท่านั้น ซึ่งคนอื่น ๆ เค้าก็นั่งรถไปที่สาขาต่างจังหวัดกันหมดเหลือผมคนเดียวที่ต้องยื่นเอกสารที่กรุงเทพฯ อยู่คนเดียว และก็ได้ทำงานที่นั่น ที่สำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ ส่วนคนอื่น ๆ ก็ต้องไปลุ้นว่าจะได้งานที่ต่างจังหวัดหรือไม่ 


อีกจุดหนึ่งคือการเปลี่ยนหน้าที่การงาน อันเนื่องมาจากต้องการความรู้ในการงานที่เพิ่มมากขึ้น เพราะว่าที่เก่าผมได้เรียนรู้ในส่ิงที่ควรเรียนรู้จนหมดแล้ว เลยต้องจัดสินใจเปลี่ยนงานใหม่ (ในชีวิตผมเปลี่ยนที่ทำงาน แค่ 2 ที่เองจนถึงปัจจุบัน) งานใหม่ทำให้ผมต้องทำอะไรหนักขึ้นและมีความรับผิดชอบมากตามไปด้วย ได้เรียนรู้การเป็นหัวหน้างาน การเป็นที่พึ่งของลูกน้อง และการใช้ชีวิต


ผมเริ่มมีความคิดแบบอาจารย์ วีระ แล้ว นั่นคืออยากทำอะไรที่มีประโยชน์ แต่ไม่ได้ทำเป็นบริษัทแล้ว อยากใช้ความรู้ที่ผมสะสมมาให้เป็นประโยชน์กับหลาย ๆ คน




จุดต่อมากำลังเปลี่ยนผมอยู่ และผมก็กำลังควบคุมการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างตื่นเต้นทีเดียว เอาไว้มันเปลี่ยนไปทางไหนค่อยมาเล่าต่อ 


แต่ว่าเรื่องต่อไปที่จะเขียน จะเป็นเรื่องแง่คิดในชีวิตการทำงาน นะครับ!




Monday, February 8, 2010

ทำไมต้องมีพนักงานเก็บค่าโดยสารบนรถเมล์ ?

วันก่อนขณะนั่งรถเมล์มาทำงาน  "ชิดในหน่อยครับ ชิดในด้วย" คำนี้เป็นคำคุ้น ๆ ที่จะได้ยินบ่อยมากสำหรับนักศึกษาที่ต้องขึ้นรถโดยสารประจำทางไปมหาวิทยาลัย คำถามไม่ได้อยู่ที่ว่าจะให้ชิดในทำไม แต่มันอยู่ที่ว่า "ทำไมต้องมีคนคอยบอกให้ชิดใน และเก็บค่าโดยสารบนรถประจำทาง?"

รถเมล์ที่ผมเคยนั่ง สาย ปอ.พ. 20 จากนนทบุรีมาซีคอน นาานมากกก ไม่รู้นั่งไปได้ไง ก็ไม่มีคนเก็บค่าโดยสาร ผู้โดยสารจะต้องดูว่ามีที่ว่างให้นั่งหรือไม่ (เพราะว่า ปอ.พ. 20 ไม่ให้ยืน) แล้วค่อยขึ้นไป (ไม่เหมือนรถแท็กซี่สมัยนี้มีคำว่า "ว่าง" บอก) ผู้โดยสารต้องทำการจ่ายค่าโดยสารแบบไม่มีระบบทอน ก่อนเข้าไปนั่ง แล้วทำไมไม่มีคนเก็บค่าโดยสาร?

รถสองแถว ซอยอ่อนนุช ก็ไม่เห็นมีคนเก็บค่าโดยสาร ทุกคน หลังจากกดอ๊อดเพื่อแจ้งให้คนขับรถ จอด เมื่อเดินลงรถไปแล้วก็จะกุรีกุจอไปจ่ายค่าโดยสาร นั่นแสดงว่าไม่จำเป็นต้องมีคนเก็บค่าโดยสารหรือ?

สองแถว เรวดี สายนี้ ปัจจุบันยังมีคนเก็บค่าโดยสารอยู่ มีแบบเดินไปเก็บถึงที่นั่ง และแบบก่อนลงค่อยจ่าย ทำไมไม่เหมือนที่อ่อนนุช?


อะไรทำให้มีหรือไม่มีคนเก็บค่าโดยสาร ขนาดของรถ? เส้นทางเดินรถ? บริษัทเดินรถ?

กรณีของ ปอ.พ 20 เข้าใจได้ว่า บนรถโดยสารไม่มีพื้นที่พอให้มีคนเก็บค่าโดยสาร ทำให้คนขับรถต้องทำหน้าที่ไป หรืออาจเป็นเพราะว่าต้องการเปลี่ยนแนวทางเดิมที่มีพนักงานเก็บค่าโดยสาร แต่ผมก็ชอบแบบนี้นะ

กรณีของเรวดี ที่ต้องมีคนเก็บค่าโดยสารเพราะว่า เป็นรถคันใหญ่ ทำให้การจ่ายค่าโดยสารทำแบบที่อ่อนนุชไม่ได้ แบบนี้ไม่ดี

กรณีของอ่อนนุชทำให้เห็นว่า เล็ก ๆ คล่อง เร็ว ดี

สรุปว่าไม่มีก็ได้นี่หว่า ... ถ้าจัดการได้


ผมคิดว่ารถเมล์บ้านเราปัญหาทั้งหลายทั้ง ขสมก. หรือ รถร่วมบริการก็ดี คือ ขาดการจัดการ บ่อยครั้งที่ผมจะเห็นว่าในชั่วโมงเร่งด่วน ไม่มีรถให้โดยสาร หรือถ้ามีก็จะเป็น 2 คันวิ่งติดกันมาติด ๆ โดยที่คันแรกแน่นขนัด ส่วนคันที่สองวิ่งเร็วฉิวแซงคันแรกไปเข้าอู่ แต่ไม่ค่อยมีผู้โดยสาร

ในฝันที่ผมฝันไว้กับรถเมล์โดยสารคือ

  1. เป็นคันเล็กเท่า ๆ กับ ปอ.พ 20 ทุกคันติดระบบปรับอากาศ ทุกคันเป็นระบบ ไบโอดีเซล เพราะว่าผมเชื่อว่า ไบโอดีเซล ประเทศเราผลิตเองได้ หรือระบบกึ่งระบบไฟฟ้าก็ได้
  2. ไม่ต้องมีคนเก็บค่าโดยสาร ใช้ระบบหย่อนเงินค่าโดยสาร หรือตัดจากบัตรโดยสารรายเดือนก็ได้ 
  3. ไม่มีการยืนบนรถ แต่ให้มีหลาย ๆ คัน โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน ส่วนชั่วโมงปกติก็ทำตารางเวลาการเดินรถ
  4. รถเมล์ทุกคันมีการตรวจสอบจำนวนผู้โดยสารและให้พนักงานขับรถทำการส่ง SMS แจ้งให้ทางศูนย์การเดินรถทราบว่ามีผู้โดยสารคนอื่น ๆ ต้องการรถโดยสาร เพื่อนำมาวิเคราะห์จำนวนรถที่ต้องบริการในแต่ละช่วงเวลา
  5. ผู้โดยสารทำการต่อแถวเพื่อรอขึ้นรถเมล์ตามก่อนหลัง เพราะว่าเดี๋ยวมีรถมารับแน่นอน
  6. มีระบบวิเคราะห์การเดินรถและแจ้งตารางเดินรถให้ผู้โดยสารทราบจาก SMS หรือ WEB ก็ได้
ด้วยจำนวนของผู้โดยสารแต่ละวันและช่วงเวลาที่แน่นอนในการเดินทาง ผมเชื่อว่าถ้าหากมีการจัดการที่ดี ย่อมทำให้ ขสมก. มีรายได้แน่นอน 

100,000 คน คิดคนละ 20 บาทต่อเที่ยว 1 วันต้องเดินทางอย่างน้อย 2 เที่ยว ดังนั้นก็จะมีรายได้วันละ 4 ล้านบาท มันเหมือนกระปุกออมสินเคลื่อนทีเลยทีเดียว แค่ผู้ลงทุนต้องไม่หวังผลในระยะสั้น


ผมเคยถามน้องที่บ้านที่ต้องนั่งรถเมล์ไปทำงานทุกวัน "หากต้องซื้อรถขับมาทำงาน จะซื้อหรือไม่ เพราะอะไร" คำตอบคือ "ซื้อ"  เหตุผลแรกคือ ไม่มีรถเมล์ให้โดยสาร พอมีก็แน่นเป็นปลากระป๋อง ไม่รู้จะทำอย่างไรนอกจากซื้อรถขับไปคนเดียว

นั่นแหละเป็นปัญหาของการจราจรในปัจจุบัน ไม่ใช่ว่ารถเยอะแต่เป็นเพราะว่ารถน้อยต่างหาก มันน้อยและบริการไม่ดี ไม่จัดการ ทำให้ผู้คนต้องช่วยเหลือตัวเองด้วยการซื้อรถยนต์ส่วนตัว

ผมคิดว่ารถไฟฟ้าใต้ดินหรือลอยฟ้า ไม่ได้เป็นคำตอบของการแก้ปัญหารถเมล์ แต่เป็นการเพิ่มช่องทางมากกว่าการแก้ปัญหา