Wednesday, June 29, 2011

ประเวศเสนอสิ่งที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ควรทำ ๑๐ ประการ


บทความนี้เขียนก่อนวันเลือกตั้ง ยังไม่รู้ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ด้วยความแตกแยกอย่างรุนแรงในสังคมไทย ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดมิคสัญญีกลียุคที่มีการฆ่ากันตายเป็นแสนๆ คน หลายฝ่ายเรียกร้องรัฐบาลใหม่ให้สร้างความปรองดอง นายกรัฐมนตรีคนใหม่ควรฟังเสียงเรียกร้องจากสังคม และทำงานร่วมกันกับสังคม สร้างความปรองดองอย่างสร้างสรรค์ ให้สังคมไทยก้าวข้ามความติดขัด เจริญรุดหน้าไปสู่อนาคตที่ดี ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอ สิ่งที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ควรทำ ๑๐ ประการ คือ
๑. ตั้งรัฐบาลแห่งความปรองดอง โดยเชิญนักการเมืองจากพรรคต่างๆ รวมทั้งพรรคคู่แข่ง เข้าร่วมรัฐบาลแห่งความปรองดอง ควรถือว่าขณะนี้ประเทศไทยเผชิญสถานการณ์พิเศษ ที่ต้องการความเสียสละและลดทิฐิมานะ เข้ามาร่วมมือกัน นายกรัฐมนตรีควรขอร้องอดีตนายกรัฐมนตรีหลายท่านเข้าร่วมเป็นคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน สามารถเข้าร่วมประชุมกับคณะรัฐมนตรีได้ ในการนี้ถ้านายกรัฐมนตรีทำงานร่วมกับภาคสังคมที่สนใจกิจการบ้านเมือง จะทำให้มีพลังสร้างสรรค์มากขึ้น
๒. รับทำยุทธศาสตร์การสื่อสารสัมมาวาจา ที่แล้วมาการสื่อสารเชิงเกลียดชัง ก่อให้เกิดความแตกแยกที่พาสังคมไทยไปจ่อที่ขอบเหวแห่งมิคสัญญีกลียุทธ ยุทธศาสตร์การสื่อสารที่ดีสามารถเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดจิตสำนึกได้
๓. ตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ จะใช้ คอป. ชุดเดิมที่มี ดร.คณิต ณ นคร เป็นประธาน หรือจะตั้งขึ้นใหม่ได้ มีเทคนิคกระบวนการปรองดองที่โลกใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งที่อื่น เช่น แอฟริกาใต้ มาแล้วที่สามารถนำมาใช้ได้ ถ้ารัฐบาลและสังคมเข้าร่วมในการกระบวนการนี้อย่างอย่างจริงจัง ก็น่าจะนำไปสู่การปรองดอง และสร้างชีวิตจิตใจใหม่ได้
๔. สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตัวเอง ถ้าชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งสามารถจัดการตัวเองได้ จะดูแลแก้ปัญหาต่างๆ ไปได้ ๘๐-๙๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องพุ่งเข้ามาท่วมท้นส่วนกลาง ลดความขัดแย้งระหว่างอำนาจรัฐรวมศูนย์กับวัฒนธรรมท้องถิ่นลง รัฐบาลมีเวลาทำงานเชิงรุกต่างๆ รวมทั้งเป็นการสร้างผู้นำท้องถิ่นเก่งๆ จำนวนมาก ซึ่งในอนาคตจะขึ้นมาเป็นผู้นำระดับชาติ
๕. สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ สัมมาชีพเต็มพื้นที่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของความร่มเย็นเป็นสุข และความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ รัฐบาลควรระดมกำลังจากทุกภาคส่วนร่วมสร้างสัมมาชีพในทุกหมู่บ้าน ตำบล เมือง จังหวัด ส่งเสริม SSE (Small Social Enterprise) ให้เชื่อมโยงผู้บริโภคในเมืองกับผู้ผลิตในชนบทที่ทำการเกษตรยั่งยืนให้เกื้อกูลกัน พลังผู้บริโภคจะไปสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั่วประเทศ
๖.   จัดสรรที่ทำกินให้เกษตรกรและผู้ใช้แรงงานอย่างทั่วถึง เรามีเกษตรกรและผู้ใช้แรงงานกว่า ๔๐ ล้านคน คนเหล่านี้เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ไม่พอกินพอใช้ และขาดความมั่นคงในชีวิต ถ้าคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่มั่นคงแล้วประเทศจะมั่นคงได้อย่างไร ถ้าเกษตรกรและผู้ใช้แรงงานมีที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและผลิตอาหารกินเอง ไม่ต้องมากครอบครัวละ ๒ ไร่ก็ได้ จะเป็นรากฐานที่ทำให้ประเทศไทยมั่นคง ต่อไปอาหารจะมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ แต่รายได้ได้ของคนจนจะเพิ่มตามไม่ทัน จะเป็นเหตุให้เกิดจลาจล การที่คนจนมีที่ดินจะทำให้เกิดความมั่นคงในเรื่องที่อยู่อาศัยและอาหาร ภาคอุตสาหกรรมจะแข่งขันได้ดีขึ้น เพราะถ้าผู้ใช้แรงงานมีที่อยู่อาศัยและมีอาหารกิน จะลดความกดดันเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ถ้าผู้ใช้แรงงานต้องเสียค่าที่พักและซื้ออาหารกิน ค่าแรงวันละ ๓๐๐ บาท ก็ไม่พอกินพอใช้ แต่ถ้ามีที่อยู่อาศัยและมีอาหารกินเสียแล้ว ถ้าได้ค่าแรงวันละ ๑๕๐-๒๔๐ บาท ก็เท่ากับเป็นเงินเหลือเก็บ การมีที่ดินจะสามารถทำให้มีสระน้ำของครอบครัวกระจายทั่วแผ่นดิน เก็บน้ำได้มหาศาล ป้องกันน้ำท่วม แก้ความแห้งแล้ง สามารถปลูกไม้ยืนต้นได้จำนวนมาก ซึ่งทำให้ความเป็นป่ากลับคืนมา ลดการปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศ  และเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จึงกล่าวว่า การจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรและผู้ใช้แรงงานจำนวนมากที่สุด จะเป็นรากฐานที่ส่งผลต่อๆไปให้ประเทศมีความมั่นคง รัฐบาลมีวิธีการได้หลายวิธีที่จะกระจายที่ดินทำกินให้คนจน ซึ่งจะมีประโยชน์ยั่งยืน มากกว่าการแจกเงิน
๗. เชื่อมโยงเศรษฐกิจมหภาคกับเศรษฐกิจชุมชนให้เกื้อกูลกัน  เศรษฐกิจชุมชนนั้นเป็นเศรษฐกิจบูรณาการ  เป็นเศรษฐกิจยั่งยืน เศรษฐกิจมหภาคเป็นเศรษฐกิจพลัง ถ้าเชื่อมโยงให้เกื้อกูลกันจะทำให้เกิดทั้งเศรษฐกิจพอเพียง และเศรษฐกิจที่แข่งขันด้วย ทำให้ประเทศมั่นคงและมั่นคั่งไปพร้อมกัน
๘. สร้างแบรนด์ประเทศไทย ต้องส่งเสริมคนไทยที่มีศักยภาพให้สามารถ สร้างความเป็นเลิศในด้านต่างๆ ทำนอง The best of Thailand in…. เช่น ในการกีฬา ดนตรี ศิลปะ ธุรกิจ การพยาบาล วิชาการ ฯลฯ  คนไทยที่มีศักยภาพมีอยู่ แต่ขาดโอกาสและการสนับสนุน รัฐบาลควรส่งเสริมความเป็นเลิศระดับโลกของคนไทยในด้านต่างๆ ซึ่งจะนำความภาคภูมิใจในตัวเองมาให้คนไทย The best of Thailand จะกลายเป็นแบรนด์ที่ภาคธุรกิจจะเข้ามาใช้เพื่อการแข่งขัน ภาคธุรกิจไทยอาจไม่มีกำลังพอที่จะสร้างแบรนด์ที่ไปแข่งขันได้ระดับโลกแต่รัฐมีเครื่องมือมาก ควรจะต้องเข้ามาสร้างแบรนด์ประเทศไทย
๙.  สร้างประเทศไทยให้เป็นมหาอำนาจทางสันติภาพ ประเทศไทยมีพื้นฐานที่จะเป็นผู้สร้างสันติภาพ เพิ่งมาเสียศูนย์ไปเมื่อเร็วๆนี้ รัฐบาลและทุกภาคส่วนควรสนใจเรื่องการสร้างสันติภาพทั้งภายใน และภายนอกอย่างจริงจัง การมีสันติภาพเป็นทุนอย่างสำคัญในการพัฒนาความเจริญในด้านต่างๆ รวมทั้งด้านเศรษฐกิจด้วย ด้วยที่ตั้งของประเทศไทยควรจะเป็นศูนย์กลางของการผนึกความเข้มแข็งของสุวรรณภูมิ หรืออาเซียน ประเทศอาเซียนรวมกันมีประชากรราว ๖๐๐ ล้านคน เป็น ๒ เท่าของสหรัฐอเมริกา ถ้าผนึกกันให้เข้มแข็งจะเป็นขั้วอำนาจขั้วหนึ่ง ที่ช่วยลดความตึงเครียดในโลก และเป็นพลังสร้างสันติภาพ ถ้ามีระบบการท่องเที่ยวสุวรรณภูมิครบวงจร ทุกประเทศจะได้ประโยชน์ร่วมกัน หมดปัญหาเรื่องใครกินแดนใคร เพราะใช้ประโยชน์ร่วมกัน คนไทยต้องคิดใหม่ ก้าวข้ามความขัดยังกับเพื่อนบ้านไปสู่ความเป็นมหาอำนาจทางสันติภาพร่วมกัน
๑๐. ยุทธศาสตร์ทางปัญญา สังคมมีความหลากหลายและซับซ้อน การที่จะรักษาบูรณภาพและดุลยภาพของประเทศได้สังคมไทยต้องมีปัญญา การที่จะทำตามข้อเสนอ ๙ ข้อข้างต้นได้ต้องใช้ปัญญาอย่างมาก รัฐบาลควรปรึกษาผู้รู้และดำเนินยุทธศาสตร์ทางปัญญาได้อย่างจริงจัง ยุทธศาสตร์ทางปัญญานี้ประกอบด้วยอย่างน้อย ๓ องค์ประกอบเข้ามาผนวกกัน คือ เรียนรู้ การวิจัย และการสื่อสาร ควรต้องทำให้ได้ทั่วถึง และรวดเร็ว ซึ่งอาจจะถึงเป็นการอภิวัฒน์ทางปัญญา

      นี้คือเรื่องดีๆ ๑๐ ประการที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ควรทำ แม้เป็นเรื่องยากแต่ถ้าผนึกคนไทยทุกภาคส่วนเข้าร่วมมือกัน ก็อยู่ในฐานะที่จะทำได้  ถ้าคนไทยรวมพลังกันก็สามารถทำเรื่องดีๆ อื่นๆ ได้อีกมาก 
ในยามนี้ประเทศชาติวิกฤตสุดๆ คนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปไม่ควรจะเป็นเพียงนักการเมืองเท่านั้น
         ดังที่มีผู้พูดว่านักการเมืองคิดถึงตนเอง
         แต่รัฐบุรุษหรือรัฐสตรีคิดถึงประเทศชาติ.-

ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/life/20110629/397944/ประเวศเสนอสิ่งที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ควรทำ-๑๐-ประการ.html

ในส่วนตัวผมเห็นด้วยกับแนวคิดเหล่านี้ และอยากให้เป็นไปได้ด้วย ผมเชื่อว่าคนไทยทุกคนอยากเห็นคนไทยมีความสุข และส่วนดี ๆ ของคนไทยทุกคนมีอยู่ในตัวอยู่แล้ว แค่แสดงสิ่งเหล่านั้นออกมา หันด้านที่ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันออกไป เริ่มจากจุดที่สามารถเริ่มทำด้วยกันได้ก่อน 
สาธุ: ตอนนี้ผมก็เป็นคนหนึ่งที่เริ่มแล้ว ผมอยากให้คุณเริ่มด้วยกันกับผมบ้าง

สร้างให้พอใช้ ที่เหลือค่อยนำไปแบ่ง ไปขายหารายได้เก็บไว้

วงเวียนของการทำมาหากินของชาวไทยส่วนใหญ่อยู่กับเกษตรกรรม มาแต่ไหนแต่ไร และเดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นอยู่ หลาย ๆ ธุรกิจที่เฟื่องฟู และยั่งยืน ยังเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับการทำมาหากินแบบ ไทย ๆ แค่เปลี่ยนวิธีการไปเท่านั้นเอง ไม่ว่าจะเป็น อาหาร การท่องเที่ยว เสื้อผ้า ยารักษาโรค

ประเทศไทยมีอะไรที่หลาย ๆ ประเทศไม่สามารถมีได้ หรือเรียกให้ดีคือ มีทุน ทุนทางด้านทรัพยากรที่ดี แต่เนื่องด้วยทรัพยากรที่มากมาย หากจัดการไม่ดีแล้ว ย่อยส่งผลไม่ดีได้ด้วย ดังเช่น ทุกวันนี้ เราจะพบว่า เกษตรกร ยังต้องซื้อผลผลิตเกษตร มาทานเอง แม้ว่าจะสามารถผลิตเองได้


เขียนข้อความนี้แล้วทำให้นึกถึง ข้อความนี้

“...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควร และปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะทางเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป...”


มีพอแล้ว ที่เหลือค่อยขาย





Friday, June 10, 2011

Home กับพลังงาน

เมื่อดู Home จาก http://www.homethemovie.org/ แล้วพอจะพบว่า มนุษย์มีความไม่พออยู่มากมาย จริง ๆ  มนุษย์ไม่เคยพอในสิ่งที่มี เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโลก เครื่องนุ่งห่ม

พอดูจบก็ถามตัวเองว่า ทำไมโลกถึงมีพลังงานในตัวเอง เช่น น้ำมัน อากาศ แร่ธาตุ ลม ดิน น้ำ  โลกมีสิ่งเหล่านี้ไว้เพื่อรักษาให้เป็นโลก เมื่อโลกมีพลังงานน้อยลง นั้นก็จะเป็นจุดจบ

และเหตุผลเดียวที่พลังงานของโลกหมดไปคือ ความไม่พอของมนุษย์ นั่นเอง

Tuesday, June 7, 2011

ความเป็นไทย

ต่างประเทศ ต่างวัฒนธรรม ต่างถิ่น ต่างเชื้อชาติ ย่อมให้อะไรที่ต่างกัน

ทำไมคนประเทศโน้นถึงมาเที่ยวประเทศนี้ ทำไมคนเหล่านั้นจึงยอมจ่ายเงินเพียงเพื่อต้องการซื้อศาลพระภูมิ ที่เดินไปไหนก็เห็นได้ที่บ้านเรา

เพราะว่าบ้านเรามีดี ที่บ้านเค้าไม่มี


"สิ่งที่สร้างมูลค่าให้สินค้าไทยได้ดีที่สุดคือเรื่องราวความเป็นไทย" นั่นเอง


    อุตสาหกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นสินค้ายอดฮิตของแบรนด์ "ไทยแลนด์" เพราะมีเรื่องราวเบ้ืองหลังน่าสนใจ น่าค้นหาและหาที่ไหนไม่ได้ ไม่ใช่เพราะความไฮเทคหรือกำลังอินเทรนด์ สินค้าแบรนด์ไทยแลนด์ที่หวังจะตีตลาดโลกจึงน่าจะมีเรื่องราวความเป็นไทย หรือนำความเป็นไทยเข้าไปประยุกต์ใช้กับการออกแบบสมัยใหม่ เพราะคนไทยไม่เก่งเรื่องการผลิตสินค้าปริมาณมาก ๆ  ออกมาขายในราคาถูก ๆ อย่างประเทศจีน เราไม่ได้มีเทคโนโลยีล้ำสมัยไว้แข่งกับกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย และเราไม่ได้เป็นผู้นำเทรนด์เหมือนอิตาลีหรือฝรั่งเศส

    พูดแบบนี้วัยรุ่นอาจหาวใส่ แต่ผมมีสองตัวอย่างที่จะทำให้คุณเห็นด้วยกับผมว่า เรื่องไทย ๆ ไม่น่าเชื่อ อย่างแรกคือ ผมได้ไปชมนิทรรศการออกแบบของคนไทย "Show Hand Design" (จัดโดยกรมส่งเสริมการส่งออก) จัดในช่วง Milan Design Week ณ เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ซึ่งนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์จากทุกสารทิศต้องเดินทางไปดูเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านของนักออกแบบไทยที่โดดเด่นสูสีกับผลงานจากทั่งโลก ล้วนเป็นงานออกแบบที่ต่อยอดจากวิถีชีวิตไม่เร่งรีบของคนไทย วัสดุไทยที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร และศิลปวัฒนธรรมไทยอันละเอียดอ่อน ส่วนผลงานที่พยายามอินเทรนด์มากเกินไป ก็มักจะจมและถูกกลืนไปตามกระแสความนิยมที่ทำให้คนทำอะไรคล้าย ๆ กันออกมา

    .
    .
    .
    เราเองก็ภูมิใจในชื่อนิตยสารแบบไทย ๆ บ้าน ๆ เหมือนกัน ไม่เคยคิดจะเปลี่ยนชื่อเป็นภาษาอังกฤษ เพราะชื่อของเรามีที่มาที่ไป


(ส่วนหนึ่งจาก "รับแขก" บ้านและสวน มิถุนายน 2554 เจรมัย พิพักษ์วงศ์)

Monday, June 6, 2011

ตอบคำถาม "มันคืออะไร" กันอย่างไร

พอเราเข้าทำงาน หลาย ๆ คนจะถามเราว่า ทำงานบริษัทอะไร ทำงานอะไร

งานบางอย่างมันก็ไม่ต้องอธิบายมาก แค่บอกว่าทำอะไรก็เข้าใจกันดี แต่ก็มีงานอีกหลาย ๆ อย่างที่ต้องอธิบายกันเป็นชั่วโมง กว่าจะรู้ว่ามันคืออะไร

คราวหน้าผมจะตอบแบบนี้ดีกว่า


"I will attempt to explain not what .... is, but what it should be, once I’ve met my goals with it."