Tuesday, June 12, 2012

"การสร้างนักพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน"

วันนี้เข้าร่วมพิธีเปิด "การสร้างนักพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน


ก็ขอมารีวิวเสียหน่อยว่าไปมาแล้วได้อะไรกลับมาบ้าง


สถานที่ - ถ้าเทียบกับที่ SIPA เคยจัดมาแล้วที่แจ้งวัฒนะ ก็ถือว่าสถานที่ดีกว่ามาก มีการจัดเตรียมตั้งแต่ป้ายทางเข้า การบริการที่จอดรถ การบริการจุดลงทะเบียน การบริการอาหาร โดยเฉพาะอาหารทั้งในส่วนของอาหารว่าง และ อาหารกลางวันนั้น ทำได้ยอดเยี่ยมมาก ไม่ใช่ อาหารระดับยี่ห้อโรงแรมดัง หรืออาหารบรรจุกล่องยี่ห้อดัง ๆ แต่เป็นยี่ห้อ เกษตรศาสตร์ และที่สำคัญมันอร่อยมาก


และเป็นการดีที่เปิดให้น้อง ๆ นักศึกษา ได้เข้ามาร่วมสัมนาในโครงการนี้ด้วย


เนื้อหา - เนื่องจากวันนี้เป็นวันเปิดตัวโครงการ จึงเป็นการนำวิทยากรหลาย ๆ ท่านมาเข้าร่วมเสวนา ในส่วนของซอฟต์แวร์เปิด ซึ่งก็ได้หลาย ๆ มุมมองดี และก็ให้แนวคิดที่ค่อนข้างดีในการนำซอฟต์แวร์เปิดไปใช้งาน แต่ดูเหมือนกับว่า คนส่วนใหญ่ที่มาในครั้งนี้จะมีจุดมุ่งหมายอื่นเข้ามาด้วย เพราะว่าจะมีการเปิดห้องเรียนราคาถูก (เหมือนธงฟ้า) ให้กับผู้สนใจเข้าเรียนมาลงทะเบียนเรียนด้วย โดยส่วนตัวแล้วไม่ค่อยเห็นด้วยกับวิธีการเรียนถูกเท่าไหร่ เพราะว่าเอาเข้าจริงแล้วบริษัทต่าง ๆ ที่เข้ามาร่วมนั้นมีกำลังในการจ่ายค่าอบรมอยู่แล้ว


ผมมันเป็นพวกหัวดื้อ คือพอไปฟังแล้วไม่ค่อยคล้อยตามเท่าไหร่ จึงขอมาลงความคิดไว้ที่นี่เสียหน่อย ในส่วนตัวแล้วเมื่อแรกเริ่มใช้ open source ก็คิดว่ามันฟรี แต่พอใช้มันมานาน ๆ แล้วไม่ใช่อย่างที่คิด  คำว่า open source ที่จริง ๆ แล้วควรหมายความว่า "ซอฟต์แวร์เปิดเสรี" ไม่ใช่ "ซอฟต์แวร์ฟรี"  ซึ่ง "ซอฟต์แวร์เปิดเสรี" นั้นน่าจะหมายถึงเปิดให้เข้าถึงได้ คือให้นำมาใช้งาน หรือนำมาใช้โดยมีเงื่อนไขกำหนด โดยส่วนใหญ่คือ "สามารถนำไปใช้ได้" ...อย่างเสรี  อาจเหมือน ก ข ค ง ... ที่มาใช้ได้ฟรี

ส่วนหลักสูตรที่เปิดสอนนั้น เนื่องจากใช้เวลาอบรมประมาณ 2-3 วัน ควรระบุให้ชัดเจนไว้ว่าจุดมุ่งหมายคืออะไร แต่ผมก็ขอเสนอเป็นดังนี้

  1. สอนให้รู้ว่ามีมันอยู่ แค่บอกว่ามันมีอยู่นะ มันสามารถใช้งานอะไรได้บ้าง
  2. สอนให้ใช้เป็น คือมาลงมือใช้งานไม่ใช่พัฒนา
  3. สอนให้พัฒนาเป็น ให้พัฒนาเป็นชิ้นเป็นอันได้
และด้วยเนื่องโครงการนี้มีคำว่า AEC อยู่ และวิทยากรพูดถึงขีดความสามารถของคนไทย โดยเฉพาะอย่างย่ิงบุคคลากรที่จะเป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งหลาย ๆคนพูดกันว่าหาได้ยากมากในสมัยนี้ เพราะว่าหลาย ๆ คนที่จบมาอยากเป็นอย่างอื่นมากกว่า นักพัฒนา โดยส่วนตัวของผมแล้วคำว่าเปิดนั้น หมายถึง 2 ความหมายด้วยกันคือ เปิดให้เข้า in  หรือเปิดไปสู่ out แต่ดูเหมือนกับว่าประเทศเราจะถูกกำหนดให้เปิดให้เข้ามากกว่า เปิดไปสู่ โดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติ แต่ทรัพยากรบุคคลนั้น คงออกไปสู่ได้ยาก...! เพราะคนไทยไม่ค่อยเป็นคนแสดงออกเท่าไหร่ แต่มักจะเก็บความเก่งเอาไว้ แล้วใช้เมื่อยามที่ต้องการ (แฮะ...เหมือนจอมพราน รพินทร์)

มีการยกตัวอย่างของประเทศใน AEC ที่น่ากลัวอย่าง สิงคโปร์ แต่ผมคิดว่า เค้ากลัวประเทศเรา..เก่ง..มากกว่า เพราะว่าผมมองว่าสิงคโปร์เก่งไม่กี่อย่างเอง เช่น การตลาด ภาษาสิง-ลิช เพราะว่าเค้าคงปลูกผักไม่เก่ง การประมงไม่เก่ง สร้างตึกไม่เก่ง ผัดข้าวไม่เป็น

ท่านวิทยากรท่านหนึ่งพูดถึงปัญหาภาษาอังกฤษของนักพัฒนา ว่าเป็นปัญหาที่ทำให้เราเข้าถึงการพัฒนาได้ยาก แต่เชื่อผมได้เลยว่า ไม่ใช่กับทุกคนหรอก เพราะว่า นักพัฒนาที่ผมเจอนั้น บางคนพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เรื่องเลย แต่ก็พัฒนาโปรแกรมได้ดี เค้าใช้สมองอีกด้านจินตนาการแล้วพัฒนาโปรแกรม นี่ดีนะที่โปรแกรมไม่ได้เขียนด้วยภาษาญี่ปุ่น ไม่อย่างนั้นผมว่าหลาย ๆ คนคงต้องไปเรียนภาษาญี่ปุ่นเพิ่มเพื่อพัฒนาโปรแกรมเป็น

ผมเข้าใจว่าน้อง ๆ นักศึกษาที่เข้าร่วมวันนี้ อยากจะเป็นนักพัฒนามากกว่า เป็นซุปเปอร์ยูสเซอร์ ดังนั้นในการนำเสนอให้ใช้โปรแกรมที่เป็นซอฟต์แวร์เปิดมากไป แต่ไม่สนับสนุนให้ลองสร้างซอฟต์แวร์บ้าง อาจเป็นการปิดกั้นไปหน่อย เพราะผมเชื่อว่าหากเรานำเอาสิ่งที่สร้างได้ด้วยฝีมือคนไทย แบบไทย ๆ แล้วเปิดไปให้ประเทศอื่นใช้งานบ้าง น่าจะมีประโยชน์ไม่น้อยเหมือนกัน เพราะว่า FB เองก็ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่กว่าระบบศิษย์เก่าของประเทศไทยเท่าไหร่ ผมเชื่อว่าหากเราพัฒนาระบบต่าง ๆ เหล่านี้เองในประเทศ คงมีหลายประเทศอยากใช้ด้วย  

"เราพยายามเป็นเหมือนคนอื่นมากเกินไป จนลืมว่าเราควรเป็นตัวของตัวเองบ้าง"


สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นต่อไปการที่มีโครงการนี้เกิดขึ้นนั้น ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ได้จัดให้เกิดความรู้ขึ้นสำหรับผู้ที่ต้องการเข้ามาหาความรู้ โดยเฉพาะนักศึกษา แต่ผมก็อยากให้เกิดเป็นโครงการอื่น ๆ ต่อมา ไม่ใช่ว่าจัดกันเป็นประจำทุกปี แล้วแค่มาสัมมนากัน ต่างคนต่างกลับบ้านไป 

เป็นไปได้หรือไม่ว่า "ให้กำหนดระบบซักระบบหนึ่งที่เราจะร่วมกันพัฒนา เพื่อให้ใช้ร่วมกัน และพัฒนาให้ดีขึ้นต่อ ๆ ไป"